ความตายในสุนทรีสูตร : ความเชื่อ ผลประโยชน์ การสื่อสาร และความรุนแรง

ความตายในสุนทรีสูตร : ความเชื่อ ผลประโยชน์ การสื่อสาร และความรุนแรง

Death in Suntaree Sutta: Faith, Benefit, Communication and Violence

พระปลัดระพิน พุทฺธิสาโรIPhra Raphin Buddhisaro

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา แนวคิดเรื่องการจัดการต่อความเชื่อ ผลประโยชน์ การสื่อสารและการใช้ความรุนแรง ผ่านเรื่องในสุนทรีสูตรที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ใช้วิธีการศึกษาจากเอกสาร งานวิจัย และบทความทางวิชาการสะท้อนคิดวิเคราะห์ร่วมกับเหตุการณ์สถานการณ์ปัจจุบันเขียนแบบความเรียงเป็นบทความทางวิชาการ ผลการศึกษาพบว่า เรื่องเกิดขึ้นในครั้งพุทธกาลโดยนางสุนทรี เป็นผู้ศรัทธา แต่ไม่ได้ใช้ปัญญาจนนำไปสู่ความตาย และความตายของสุนทรีถูกทำให้เป็นเครื่องมือ ใช้เป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายตรงข้ามทางศาสนา ในการให้ร้าย กล่าวร้าย โจมตี โดยมีผลประโยชน์ในเรื่องมวลชน การยอมรับ การนับถือ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผลได้ อยู่ฉากหลัง องค์ความรู้จากเรื่องนี้ สามารถนำมาศึกษาเทียบเคียงเป็นกรณีศึกษาพุทธวิธี ในการบริหารข้อมูลข่าวสาร วิธีการแก้ปัญหาในสถานการณ์ของการแข่งขัน ชิงได้ ชิงเด่นของบุคคลหรือองค์กรได้

 

คำสำคัญ: สุนทรีสูตร, ผลประโยชน์, การสื่อสาร

 

Abstract

This article aims to study concepts of management towards beliefs, interests, communication and violence through the story in Suntaree Sutta that appears in the Tripitaka. Documentary study from related research and academic articles were used for the study reflecting and analyzing with current situations. It was then proposed by using writing essay as the form of academic article. The study indicated that the story took place in the Buddha time by Mrs.Suntaree, who was a believer but did not use wisdom until took her to death. The death of Suntaree was made into a tool used as a benefit for religious opponents to slander, denigrate, attack with mass benefit, acceptance, respect, and economic benefit. Knowledge from this study can be compared with a case study of Buddhist methods in information management, how to solve problems in the situation of competition, and be able to compete for the outstanding person or organization.

Keywords: Suntaree Sutta, Benefit, Communication

 

1.บทนำ

ครั้งพุทธกาลในสุนทรีสูตร มีเรื่องความขัดแย้งในเชิงอุดมคติระหว่างพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ๆ ร่วมสมัยกับครั้งพุทธกาล ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิด อุดมคติ แลวิธีการการเผยแผ่ศาสนา ที่แตกต่างกันโดยมีผลเป็นประชาชนหรือศาสนิก ลูกค้าที่เข้ามานับถือศรัทธาพระพุทธศาสนา จึงนำไปสู่การแข่งขันกันสร้างชุดความเชื่อและได้ประโยชน์จากมวลชน เพื่อตัวเอง กลุ่มตัวเอง แต่เป็นความสูญเสีย (ประโยชน์) ของอีกฝ่าย  จึงทำให้ต้องคิด “กลวิธี/กลยุทธ์” ในการกำจัดหรือทำให้อีกฝ่ายเสียชื่อเสียง เสียมวลชน ดังกรณี “มิชชันนารีกับความขัดแย้งในพม่ายุคอาณานิคม Missionary and Conflict in Colonial Burma” (เผ่า นวกุล,2560 :47-62) การลอบสังหารบาทหลวงในกัมพูชา (เดวิด แชนด์เลอร์,2547) รวมไปถึงการสนับสนุนให้ออกพระเพทราชา ปฏิวัติยึดอำนาจพระนารายณ์ (นิธิ เอียวศรีวงศ์,2561) ล่วงไปถึงการขัดกันในอินโดนีเซีย  “เส้นแบ่งอัตลักษณ์ในอินโดนีเซีย: ความเกลียดชัง “คนอื่น” ในแคมเปญต่อต้านอาฮก” (ชนม์ธิดา อุ้ยกูล, 2561 : 64-115)  ประเด็นของการขัดกันภายใต้ผลประโยชน์ทางการเมือง โดยใช้แนวคิด ความแตกต่างทางศาสนา และชาติพันธุ์มาเป็นกลไกขับเคลื่อน แนวคิดความขัดกันภายใต้กลไกทางศาสนา ความเชื่อ ศรัทธา ที่เกิดขึ้นนับแต่อดีต จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งในการศึกษานี้ จะได้นำนำมาเทียบเคียง ศึกษาย้อนกลับผ่านสุนทรีสูตร ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาล

การแย่งชิงผลประโยชน์ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่พัฒนาไปเป็นการช่วงชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์นั้น โดยใช้ทั้งวิธีการ กลยุทธ  เพื่อให้ได้มาแก่ตนเอง หน่วยงาน องค์กร และรัฐชาติ ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหน่วยนั้น ๆ  แต่อีกนัยหนึ่งในการได้มานั้นเป็นการสร้างคู่แข่ง คู่ขัดแย้ง หรือการแข่งขันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดผลหรือผลได้จากกลไกการปฏิบัตินั้น ๆ ทั้งในส่วนของมวลชน การยอมรับ ผลประโยชน์อันพึงได้ในรูปของทรัพย์สิน ดังที่เราได้ยินประโยคว่า “กลุ่มทุน/กลุ่มผลประโยชน์” ดังนั้นในบทศึกษานี้จะได้นำเหตุการณ์ ผล และแนวปฏิบัติที่ปรากฏในสุนทรีสูตร เหตุการณ์ที่ปรากฏในครั้งพุทธกาล มาเป็นกรอบในการสะท้อนคิด วิเคราะห์ เพื่อสะท้อนคิดในประเด็นของการสื่อสาร การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม  ซึ่งจะได้นำมาวิเคราะห์เทียบเคียงภายใต้แนวคิดในปัจจุบันนำเสนอเป็นลำดับไป

 

2.สุนทรีสูตรเรื่องจากพระไตรปิฎก

          เรื่องที่เกิดในสุนทรีสูตร

ในพระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  อุทาน  [4.  เมฆิยวรรค] 8.  สุนทรีสูตร (ไทย) เล่มที่ 25 ข้อที่ 38 หน้าที่ 246-250 ดังความว่า

สมัยหนึ่ง    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี    สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ  บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ  นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์  ปริพาชกเป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ  ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้จีวร  บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

ครั้งนั้น พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทนเห็นสักการะเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ไม่ได้    จึงพากันไปหานางสุนทรีปริพาชิกาถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับนางสุนทรี  ปริพาชิกาดังนี้ว่า “น้องหญิง เธอสามารถจะทำประโยชน์แก่พวกญาติได้ไหม”

นางถามว่า  “ท่านเจ้าข้า จะให้ดิฉันทำอะไร ดิฉันสามารถทำได้  เพื่อประโยชน์แก่ พวกญาติ    แม้ชีวิตดิฉันก็สละให้ได้”

พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจึงกล่าวว่า  “ดีละ น้องหญิง  ถ้าอย่างนั้น เธอจง ไปพระเชตวันเนือง  ๆ” นางสุนทรีปริพาชิการับคำของอัญเดียรถีย์ปริพาชกแล้วไป พระเชตวันเนือง  ๆ

เมื่อพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นรู้ว่า    คนจำนวนมากเห็นนางสุนทรี ปริพาชิกาไปพระเชตวันเนือง  ๆ  จึงได้จ้างนักเลงให้ฆ่านาง แล้วหมกไว้ในคูรอบ พระเชตวันนั่นเอง  จากนั้นได้พากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “ขอเดชะ มหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลาย ไม่เห็นนางสุนทรีปริพาชิกาเลย”

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลายสงสัยที่ไหนเล่า” พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทูลตอบว่า “ที่พระเชตวัน มหาบพิตร”

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า    “ถ้าอย่างนั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายจงค้นพระเชตวัน ดูเถิด”

ลำดับนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงค้นพระเชตวันแล้วขุดศพนาง สุนทรีปริพาชิกาตามที่ตนสั่งให้หมกไว้ขึ้นจากคู ยกขึ้นเตียงแล้วให้หามเข้าไปยัง กรุงสาวัตถี เดินจากถนนนี้ไปถนนโน้น    จากตรอกนี้ไปตรอกโน้น พร้อมกับให้ คนทั้งหลายโพนทนาว่า

“ท่านทั้งหลาย เชิญดูการกระทำของพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเถิด พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มียางอาย ทุศีล มีธรรมเลวทราม  กล่าวเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระ เหล่านี้ไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพรหม ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้ เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะ

ของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน    พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว  ทำไม เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”

สมัยนั้น  คนทั้งหลายในกรุงสาวัตถีเห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร เหล่านี้  ไม่มียางอาย ทุศีล มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์  ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ  ประพฤติ พรหมจรรย์ กล่าวคำจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระเหล่านี้ก็ไม่มีความเป็น สมณะ ไม่มีความเป็นพรหม ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้

จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระเหล่านี้ปราศจาก

ความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว ทำไม เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”

ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก    ถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง  ณ  ที่สมควร  ได้กราบทูล

พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขณะนี้  คนทั้งหลายในกรุงสาวัตถีเห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษว่า    ‘พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มียางอาย  ทุศีล มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะ ปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำจริงมีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระเหล่านี้ก็ไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพรหม ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจาก ความเป็นพรหมแล้ว ทำไม เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายเสียง(โจษ)นั้นจักมีไม่นาน จักมี เพียง 7 วันเท่านั้น ครั้นพ้น  7 วันก็จักหายไป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงกล่าวตอบกับคนทั้งหลายที่เห็นภิกษุแล้วด่า บริภาษ  เกรี้ยวกราด เบียดเบียน ด้วยวาจาหยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ ด้วยคาถานี้ว่า

                                    คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง

                                    หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า

                                    “ฉันไม่ได้ทำ” ต่างก็ตกนรก

                  พุทธอุทาน

คนทั้งหลายผู้ไม่สำรวม ชอบกล่าวทิ่มแทงผู้อื่นด้วยวาจา

                          เหมือนทหารข้าศึกทิ่มแทงช้างที่ออกศึกด้วยลูกศร ฉะนั้น

                          ภิกษุผู้มีจิตไม่คิดประทุษร้าย ฟังคำหยาบคาย

                          ที่คนพาลกล่าวแล้ว  พึงอดกลั้นไว้ได้

สรุปเรื่องจากสุนทรีสูตรเหตุการณ์ที่นักบวชในศาสนาอื่นได้ล่อลวงให้นางสุนทรีไปยังวัดเชตวันเพื่อฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า แล้วได้มีการจ้างนักฆ่าให้ไปสังหารนางและหมกศพไว้ในวัดเพื่อเป็นการสร้างสถานการณ์ใส่ความวัดในพระพุทธศาสนา วัด พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ด้วยตรรกะว่า เหตุการณ์ในวัดต้องเป็นสมาชิกในวัดเพื่อทำลายชื่อเสียงและใส่ความให้ได้รับความเสียหายอันจะพึงเกิดขึ้น

 

3.แนวคิดความ “หวง” (มัจฉริยะ) ต่อผลประโยชน์นำไปสู่การช่วงชิง

แนวคิดเรื่องผลประโยชน์ หรือหวงผลประโยชน์เชิงบุคคล องค์กร และรัฐ ประเทศชาติ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่อดีต (1) ดังที่พระสูตรกล่าวว่าฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์  อีกฝ่ายหนึ่งก็เสียประโยชน์ด้วย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และการจัดสรรผลประโยชน์  การที่ฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ และมองคู่แข่งเป็นศัตรู จึงหาวิธีการทำให้อีกฝ่ายเสียหาย เสียโอกาส เสียชื่อเสียง ขัดแย้ง ไปจนกระทั่งการทำลาย เป็นต้น  (2) สงครามในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ บทเริ่มและบทจบคือการช่วงชิงเพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ทั้งในนามรัฐหรือองค์กร เป็นผลได้คือดินแดนหรือผลประโยชน์ (3) ผลประโยชน์ว่าด้วยการจัดการ การให้ได้มาซึ่งอำนาจ  ตำแหน่ง บรรดาศักดิ์ ชั้นยศ จึงเกิดขึ้น และในการช่วงชิง ต้องอาศัยกลไกที่ตัวเองสามารถควบคุมและกำหนดได้ การขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบมีพลังในตัวเอง   ซึ่งในบทนี้ จะได้นำแนวคิด “หวง-มัจฉริยะ” มาเป็นกรอบมาสะท้อนข้อเท็จจริงได้

          1.ความขัดแย้งในเรื่องเขตแดน และแผ่นดิน (มัจฉริยะอาวาส) เป็นสงคราม ความขัดแย้งที่สัมพันธ์กับรัฐ ประเทศชาติ และเขตแดน ดังกรณีพระเจ้าปเสนทิโกศลทําศึกสงครามกับพระเจาอชาตศัตรู ผลคือพระเจ้าปเสนทิโกศลแพ้ในสงครามนั้น และกลับไปนอนฝันร้ายหลอนต่อความพ่ายแพ้นั้นตลอด จึงเป็นที่มาของพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ชนะย่อมก่อเวรผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์” (สํ.ส. (ไทย) 15/125/146-148; สํ.ส. 15/126/148-149; สํ.ส.อ. 1/124-125/146-147; สํ.ส.ฏี. 1/125-126/198 ; พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,2557 : 29-54) สงครามอิรัก อิหร่านในช่วง ค.ศ.1980-1988  ดังที่ Murray, Williamson; Woods, Kevin (2014) ได้ทำการศึกษาไว้ ในเรื่อง “The Iran-Iraq War: A Military and Strategic History”  ที่สงครามความขัดแย้งนี้กินเวลาทอดยาวไป 7 ปี 10 เดือน 1 วัน  หรือเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างประเทศกรณีที่รัสเซียผนวกไครเมียเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ใน “วิกฤติการไครเมีย” (Political status of Crimea) ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและมาตรการในการคว่ำบาตรรัสเซีย จนกลายเป็นวิกฤติในคาบสมุทรบอลข่าน ดังปรากฏในงานของ Hagendoorn, A.; Linssen, H.; Tumanov, S. V. (2001) ในเรื่อง “Intergroup Relations in States of the former Soviet Union: The Perception of Russians” รวมไปถึงข้อพิพาทเรื่องดินแดนเยรูซาเลมระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับ และข้อพิพาทระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ (Israeli–Palestinian conflict) ว่าด้วยดินแดนเขตแดนของเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา (West Bank,Gaza Strip) ดังปรากฏในงาน Kurtzer, Daniel; Lasensky, Scott; Organization (2008) เรื่อง Negotiating Arab-Israeli Peace: American Leadership in the Middle East แม้จะมีความพยายามในการเจรจาสันติภาพแต่ผลก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นตามที่คาดหวังอย่างที่ต้องการให้เป็นคือสันติภาพ ดังนั้นทั้งหมดที่ยกมาล้วนเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดความหวงต่อดินแดนหรือเขตแดน ถิ่นที่อยู่ (มัจฉริยะอาวาส) ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ชาติ

          2. ความขัดแย้งในเรื่อง ผลประโยชน์ เศรษฐกิจ (ลาภมัจฉริยะ) การแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์เชิงบุคคล องค์กร รัฐ ประเทศชาติ ทรัพยากรธรรมชาติ อันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ การตั้งกำแพงภาษี การกีดกันทางการค้า การรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์นามกล่มต่าง ๆ เช่น ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community (AEC) สันนิบาตอาหรับ (Arab League) องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (Organization of Petroleum Exporting Countries) หรือ โอเปก (OPEC)  กลุ่ม G7 (Group of Seven) ASEAN+3 เป็นต้น โดยกลุ่มที่ตั้งขึ้นทั้งหมดล้วนมีฐานคิดในเรื่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยมีแนวคิดในเรื่องการกีดกันทางการค้า การตั้งกำแพงภาษี การใช้มาตรการกดดันทางการค้า การลงทุน เป็นต้น ดังนั้นการเผชิญหน้า สู่ความขัดแย้ง แข่งขันในโลกนี้ มีฐานคิดในเรื่องผลประโยชน์ ผลได้แห่งรัฐ เป็นสำคัญ ดังปรากฏในสงครามสมัยใหม่ ที่เราจะพบว่าความขัดแย้งในเรื่องน้ำมัน แหล่งกาซธรรมชาติ เขตแดน การค้า ฯลฯ ดังงานของชลลดา สัจจานิตย์ (2552 : 125-134) ในเรื่อง “มาตรการ NTBs; การกีดกันสำคัญต่อผู้ส่งออกไทย – Non-Tariff Barrers (NTBs) : Key Trade Barriers for Thai Exports” ที่ให้แนวคิดในเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่ว่า

“….การจัดทำการเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ที่ขณะนี้หลายประเทศได้ให้ความสนใจหันมาเจรจากันมากขึ้น เป็นผลให้กำแพงภาษีที่ประเทศต่าง ๆ  สร้างขึ้นเพื่อจำกัดการนำเข้ามีแนวโน้มลดลง กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการค้าไร้พรมแดน ถึงกระนั้นก็ตามการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้า ต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าที่ใช้ประเด็นทางเทคนิคเป็นข้ออ้าง เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้า หรือการกีดกันทางการค้าที่ใช้ประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ มาเป็นข้ออ้างในการลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีเหล่านี้มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดการค้าโลก โดยที่มาตรการที่ประคู่ค้านำมาใช้กับผู้ส่งออกไทยจะพบว่ามีทั้งมาตรการในเชิงกว้าง ที่จำแนกเป็นายมาตรการและมาตรการในเชิงลึกที่จำแนกเป็นกลุ่มสินค้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ส่งออกจะต้องศึกษาข้อมูลและติดตามข่าวสารมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบใหม่ ๆ จากประเทศคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้ทันท่วงที….”

          ดังนั้นมาตรการต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อาทิ การกีดกันทางการค้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 มาตรการใหญ่ คือ มาตรการทางภาษีศุลกากร (Tariff Barrlers) และมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร (Non-tariff Barrlers) หรือเรื่อง ๆ อื่นใด ที่เนื่องด้วยความหวง (มัจฉริยะ) ทางเศรษฐกิจ ผลได้ หรือผลประโยชน์เป็นสำคัญ

  1. ความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ (กุลมัจฉริยะ) ชาติพันธุ์ที่สัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคมในมิติของโลกส่วนหนึ่งได้กลายเป็นปัญหา ความขัดแย้งรุนแรง นัยหนึ่งเกิดจากความเชื่อที่แตกต่างในชาติพันธุ์นั้น ๆ ดังกรณีสงครามแย่งน้ำ ของประยูรญาติในครั้งพุทธกาล ที่มีฉากหลังเป็นเรื่องของการเหยียดชาติพันธุ์ (มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2543 : ขุททกนิกายคาถาธรรมบท เลมที่ 1 ภาคที่ 2 ตอนที่ 3 หนา 363) พระพุทธเจ้ากับบทบาทในการเข้าไปห้ามทัพของวิฑูฑภะ ในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ศากยวงศ์ (ขุ.สุ. (บาลี) 25/47/ 25;ขุ.สุ. (ไทย) 25/47/41 ; ขุ.อป.(ไทย) 32/87/577,พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,2557) หรือความขัดกันว่าด้วยความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ความเชื่อ และศาสนา ในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศ ในฟิลิปปินส์ และโรฮิงญา ในประเทศเมียนมาร์ ดังผลการศึกษาของ Yegar, Moshe (2002). “Between integration and secession: The Muslim communities of the Southern Philippines, Southern Thailand, and Western Burma/Myanmar” หรือเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ซึ่งเป็นการสังหารหมู่ชนเผ่าทุตซี (Tutsi) และฮูตู (Hutu) ในประเทศรวันดา โดยสมาชิกรัฐบาลฝ่ายข้างมากที่ส่วนใหญ่เป็นชาวฮูตู ในเหตุการณ์ 100 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2537 มีชาวรวันดาประมาณ 501,000–1,000,000 คนเสียชีวิต ซึ่งเป็น 70% ของชาวทุตซี และ 20% ของประชากรรวมของรวันดา ดังปรากฏในการศึกษาของ Mamdani, Mahmood (2002) เรื่อง “When Victims Become Killers: Colonialism, Nativism, and the Genocide in Rwanda” รวมไปถึงความรุนแรงของอิรักต่อชาวเคิร์ดในอิรัก จากข้อมูลที่ว่า “…ชาวเคิร์ดเป็นปัญหาหอกข้างแคร่ของตุรกีและอิรักมาโดยตลอด ซึ่งชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรักนั้นพยายามเรียกร้องเอกราชโดยต้องการแยกตัวออกจากอิรัก ส่วนในตุรกีก็เช่นกัน และเมื่อพวกเคิร์ดก่อการกบฏและลุกฮือก็จะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงทั้งในตุรกีและอิรัก…” (โกวิท วงศ์สุรวัฒน์,2559) หรือในงานของ G.S. Harris. (1977) เรื่อง “Ethnic Conflict and the Kurds” ก็ให้ข้อมูลที่ไม่แตกต่างกัน ว่าด้วยความขัดกันในเรื่องชาติพันธุ์ภาษา ศาสนาและความเชื่อเป็นฐานของความแตกต่างและนำไปสู่ความขัดแย้งในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

4.ความขัดแย้งในเรื่องชนชั้นทางสังคม วรรณะ (วัณณมัจฉริยะ) กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาลที่เป็นช่องว่างทางสังคมในช่วงสมัยนั้นผ่านระบบคิดเรื่องวรรณะ (ชนชั้น) ช่องว่างและความแต่งต่างทางสังคมและชั้นทางสังคม การที่พระพุทธเจ้าออกบวช นัยหนึ่งจึงเป็นการปฏิเสธระบบวรรณะและสร้างความเสมอภาคในชุมชนสังฆะดังปรากฏ รวมถึงการที่พระพุทธเจ้าแก้ปัญหา ภายในครอบครัวระหว่างพระเจ้าปเสนทิโกศล วาสภขัตติยา และวิฑูภะ ภายใต้แนวคิด “เลือดพ่อสำคัญกว่าเลือดแม่” จนกระทั่งเป็นอภัยทาน  มีฐานคิดจากความแตกต่างในเรื่องชั้นวรรณะทางสังคม (พระปลัดระพิน พุทธิสาโร,2554)  รวมทั้งความหวง ตระหนี่ กีดกัน หรือขัดกันในระบบคิดของวรรณะ ยังปรากฏต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน ดังมีข้อมูลที่บวร โทศรีแก้ว (2559) ศึกวรรณะอินเดียยุคใหม่ ยอมลดชั้นเพื่อให้อยู่รอด ให้ข้อมูลไว้ว่า

“…ปัญหาสืบเนื่องจากการแบ่งชนชั้นวรรณะในอินเดียปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อชาว “ชาฏ” (Jat) ในรัฐหรยาณา ทางภาคเหนือ ใกล้กรุงนิวเดลี ก่อจลาจลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 19 คน บาดเจ็บหลายร้อยคน นอกจากปิดกั้นถนนและรางรถไฟ ผู้ประท้วงยังทำลายคลอง “มูนัค” ที่ใช้ผลิตน้ำประปาป้อนเมืองหลวงกว่า 60% ทำให้ประชาชนกว่า 10 ล้านคน หรือราว 3 ใน 4 ของประชากรกรุงนิวเดลีไม่มีน้ำใช้ ระบบวรรณะเกิดจากพวก “อริยะ” หรือ “อารยัน” เข้าไปรุกราน และทำสงครามกับชนพื้นเมืองเจ้าของถิ่นเดิมในอินเดีย ซึ่งเรียกว่าพวก “มิลักขะ” (หรือทัสสยุ หรือทราวิฑ) ในยุคโบราณ เมื่อพวกอริยะชนะสงคราม จึงใช้ศาสนาพราหมณ์เป็นเครื่องมือในการแบ่งวรรณะเป็น 4 วรรณะ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง โดยถือว่าแต่ละวรรณะเกิดจากอวัยวะของพระพรหมที่แตกต่างกันและมีหน้าที่ต่างกัน..”

แนวคิดนี้เกิดจากระบบวรรณะในอินเดียยังคงแข็งรึง และมีอิทธิพลอยู่แม้สังคม แม้เวลาจะเปลี่ยนไปจากครั้งพุทธกาลแล้วก็ตาม แต่แนวคิดเรื่องหวงวรรณะ ชั้นทางสังคมยังปรากฏอยู่ ดังมีผู้ทำการศึกษาไว้ อาทิ “ระบบวรรณะ: ปัญหาและทางออก ในมุมมองของ มหาตมะ คานธี และ ดร. บี. อาร์ อัมเบดการ์” (สมหวัง แก้วสุฟอง, 2559 : 121-139) การดำรงอยู่ของระบบวรรณะในสังคมอินเดีย (สมหวัง แก้วสุฟอง,2561: 115-134) หรือในงานของ อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน. (2560 : 31-60) เรื่อง “แนวคิดทางสังคมเรื่องอาชีพจากมุมมองเรื่องวรรณะในศาสนาฮินดู” ดังนั้นแนวคิดเรื่องชั้นวรรณะ หรือความห่วงชั้นวรรณะ อันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังยกกรณีศึกษาจากข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 ของ เครดิตสวิส Private Banking และ ผู้นำในการบริหารความมั่งคั่ง สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเผยแพร่ข้อมูล เมื่อเดือนตุลาคม 2561 โดยระบุว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกไปแล้ว เมื่อนับอันดับด้านความมั่งคั่ง (wealth) จากที่ประเทศไทยเคยอยู่อันดับ 3 ในการสำรวจเมื่อสองปีก่อน แต่ปัจจุบันกลับแซงหน้าความเหลื่อมล้ำของรัสเซียและอินเดีย ไปยืนห่างจากทั้งสองประเทศเป็นอันดับ 1 (ไทยรัฐฉบับพิมพ์ : online : 24 ธันวาคม 2561) ดังนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำของสมาชิกในสังคม จึงยังคงเป็นปัญหาของประชาคมโลก โดยเฉพาะประเทศไทยกับสถิติที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

  1. ความขัดแย้งในเรื่องทฤษฎี หลักการ แนวคิด หลักปฏิบัติ (ธัมมมัจฉริยะ) ความขัดกันด้วยความเชื่อหลักการ แนวคิด ถูกผิด ใช่ ไม่ใช่ จริงแท้ ไม่จริงแท้ ดังความความขัดแย้งในเรื่องการเมือง การปกครอง รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ไม่เลือกตั้ง เผด็จการ ประชาธิปไตย เสรีนิยม พุทธแท้ พุทธเทียม สัทธรรมปฏิรูป เรื่องเหล่านี้เป็นการขัดแย้งในเรื่องแนวคิด หลักปฏิบัติ ดังปรากฏในครั้งพุทธกาลจนกระทั่งนำไปสู่การสังคายนา และตกเป็นนิกาย (สุรพศ ทวีศักดิ์,2545 :82-92) ดังกรณีประเทศไทย ธรรมยุติกนิกาย (ศรีสุพร ช่วงสกุล,2562 :54-81) สันติอโศก (จันทรา เฮงสมบูรณ์,2556) ธรรมกาย (ตรี บุญเจือ,2017) เสื้อเหลืองแดง (วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์,2557) ประชาธิปไตย และความเชื่อต่อประชาธิปไตยที่แตกต่าง (นรพัชร เสาธงทอง,2015 : 89-95) เช่นกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ไม่เลือกตั้ง การรัฐประหารผิดกฎหมาย  หรือเป็นการคอรัปชั่นในเชิงอำนาจ เหล่านี้นำไปสู่การเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงเหล่านั้นเป็นเครื่องมือ “สื่อ (ไม่) ฆ่า: ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล” (วิไลวรรณ จงวิไลเกษม,2560) ส่งผ่านความรุนแรง เป็นแนวคิด การกระทำเหล่านั้น  ดังนั้นแนวคิดเรื่องความหวงต่อความเชื่อ หลักการ หลักคิด ความจริงก็เป็นชุดคิด เหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งและใช้ความรุนแรงต่อกัน ภายใต้แนวคิด “ธัมมมัจฉริยะ”

แนวคิดความหวง ต่อความเชื่อ ความคิด เผ่าพันธุ์ วงศ์ตระกูล ชาติพันธุ์ จึงทำให้เกิดพฤติกรรมและการกระทำที่นัยหนึ่งเพื่อรักษา นัยหนึ่งเพื่อปกป้อง นัยหนึ่งเพื่อยืนยันอุดมคติความคิดของตัวเอง ดังนั้นความขัดแย้งเรื่องน้ำมัน เขตแดน ดินแดน ความขัดแย้งเรื่องแหล่งแร่ ก๊าซธรรมชาติ และในความขัดกันกันเหล่านั้นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนหนึ่งแก้ไขได้ ส่วนหนึ่งยังไม่มีบทสรุป ส่วนหนึ่งกลายเป็นรวมรุนแรงจากการแก้ปัญหาเสียเอง และผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ยังอย่างต่อเนื่องมา โดยทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ความหวง (มัจฉริยะ)

 

4.ความตายของนางสุนทรีกับบทวิเคราะห์ทางสังคม เศรษฐศาสตร์ และการช่วงชิง

ความตายของสุนทรี ในสุนทรีสูตร สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ ในเชิง สังคม เศรษฐกิจ และการจัดสรรค์ผลประโยชน์ได้ ซึ่งจะพบว่า

  1. ผลประโยชน์ทำให้คนต้องตาย ครั้งพุทธกาล ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ทำให้กลุ่มความเชื่อศาสนาอื่นได้รับผลกระทบ เพราะเป็นฐานมวลชนเดียวกัน แปลว่าแย่งลูกค้ากัน การใช้ความตายของนางสุนทรีเป็นเครื่องมือ ใส่ร้ายป้ายสี จากผลประโยชน์ที่เสียไปของกลุ่มศาสนาตรงกันข้าม จึงเกิดความคิดทวงคืนผลประโยชน์นั้น ทำให้คิดกำจัดด้วย “เล่ห์กล” โยนศพป้ายสี ความผิดว่า “ใครฆ่า” ดังกรณีความตายและศพในการชุมนุมที่ราชประสงค์ ในบริการเมืองไทย ระหว่าง 10 เมษายน-พฤษภาคม 2553 ความตายและการฆ่านั้น จึงมีนัยยะของผลประโยชน์ และเสียประโยชน์ด้วย  แปลง่าย ๆ ศพมีนัยยะเป็นผลประโยชน์ ความตายมีผลประโยชน์เป็นความ “เสื่อม” เกลียดชังต่อความเชื่อของอีกฝ่ายหนึ่ง  ผลประโยชน์ในอำนาจ และผลได้ ทำให้มนุษย์ต้องลงทุนแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่ง “อำนาจ-ผลประโยชน์” นั้น โดยไม่จำกัดวิธีการ แม้กระทั่งทำคนให้ “ตาย” ดังปรากฏในพระสูตร “จึงได้จ้างนักเลงให้ฆ่านาง แล้วหมกไว้ในคูรอบ พระเชตวันนั่นเอง”  [เทียบเคียงจาก พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  อุทาน  [4.  เมฆิยวรรค] 8.  สุนทรีสูตร (ไทย) 25/38/246-250]
  2. 2. ความโลภ ในผลประโยชน์ อำนาจ หมายถึง การแสวงหาผลประโยชน์ และอำนาจโดยไม่จำกัดวิธี “พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทนเห็นสักการะเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ไม่ได้” (ขุ.อุ.(ไทย) 25/38/246-250) นำไปสู่การสร้างเหตุการณ์เพื่อใช้เหตุการณ์เป็นเครื่องต่อรอง ใช้ความเท็จลดทอนความจริง  ความตายถูกทำให้เป็นเงื่อนไข เพื่อเป็นเครื่องมือของอีกฝ่าย เพื่อคุกคาม ข่มขู่ รวมไปถึง การยุติผลได้ของอีกฝ่าย   เราจึงเห็นความตายถูกยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง ลดทอนความน่าเชื่อของอีกฝ่าย ความตายถูกทำให้เป็นเครื่องมือในการยุติบทบาท หรือพฤติกรรม การกระทำของอีกฝ่าย ความตาย หรือความรุนแรงจึงเป็นจุดเริ่มของปัญหา และไม่มีทีท่าที่จะสรุปจบ หรือแก้ปัญหาได้อย่างถาวร แต่จะเป็น “ตราบาป”เพื่อผลประโยชน์ อำนาจ ที่ถูกบันทึกไว้เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ดังปรากฏใน “สุนทรีสูตร” ด้วยเช่นกัน
  3. 3. ความตายเป็นเครื่องมือ “แพะ” กับความตาย ความตายของนางสุนทรี  ถูกตั้งคำถามเชิงประจักษ์จากหลักฐานในที่เกิดเหตุ ว่าทำไมสุนทรีมาวัดทุกวัน จึงถูกฆ่าตาย และต้องตายในวัด คนทำดีทำไมจะต้องตาย หรือถูกฆ่าตายในวัดใครเป็นคนฆ่า “พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว  ทำไม เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า” (ขุ.อุ.(ไทย) 25/38/246-250) มีการตั้งข้อสังเกตว่า ต้องเป็นพระแน่ ๆ เลย เพราะตายในวัด แปลว่าพื้นที่และพฤติกรรมของสถานที่เกิดเหตุไม่น่าจะเป็นอื่นไปได้ ยกเหตุแห่งความสงสัยจำเพาะไปที่วัด ความตายเป็นสถานการณ์ที่ถูกสร้าง จึงเป็นส่วนสร้างทั้งจริงและเท็จ เพื่อเป็นคำตอบร่วมของเหตุการณ์ จะเป็นไปได้อย่างไร ที่จะฆ่าจากที่อื่น แล้วแบกศพมาทิ้งที่นี่ ฟังดูเหมือนสำนวนที่ใช้กันเช่น  กรณีวัดปทุม ฯ

“….วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า วัดปทุมฯ เป็นวัดที่น่าสนใจมาก เป็นวัดเก่าแก่กลางกรุง สร้างสมัย ร.4 เป็นวัดธรรมยุติ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ระหว่างการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ในปี พ.ศ. 2553 ที่ว่ากันว่ามีคนถูกยิงเสียชีวิต 99 ศพนั้น วัดปทุมฯ แห่งนี้ถูกใช้เป็น “เขตอภัยทาน” เพื่อรับผู้ได้รับบาดเจ็บเข้ามาหลบภัย ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัด 6 ราย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ศาลระบุว่าทั้ง 6 รายถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงจากทหารซึ่งประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณระหว่างถนนพระราม 1 และหน้าวัดปทุมฯ วัดปทุมฯเป็นวัดที่ไม่มีการจัดงานศพ และไม่มีเมรุเผาศพ…” (ศาสนวิทยา ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์,ออนไลน์ สืบค้น 18 สิงหาคม 2562)

ประเด็นในการใส่ความ ถูกสร้างด้วยการสื่อสารสาธารณะ การโพนทะนา ประหนึ่งว่า อีกฝ่ายเป็นผู้ถูกกระทำ รวมไปถึงกรณีโศกนาฏกรรมความตาย ของเสื้อเหลือง เสื้อแดงในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย

“วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2553 มีประชาชนเสียชีวิต 98 ศพ บาดเจ็บ 1,978 คน รวมทั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศใช้   กฎอัยการศึกและกองทัพทําการรัฐประหารเกิดความเสียหายในด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มากกว่า 750,000 ล้านบาท ค่าเงินบาทลดลงร้อยละ 4.6 ตํ่าสุดในรอบสามปี ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลง ร้อยละ 9.1 ด้านการท่องเที่ยว ลดลงร้อยละ 60 นักลงทุนต่างชาติได้ถอนเงิน 5,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อเป็นการประท้วง” (อำนวย สุขี,2560 : 9-11)

ประเด็นและข้อมูลที่ยกมาล้วนถูกนำมาเป็นเครื่องมือเป็นประเด็นตีโต้ทางการเมือง (เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์,2558 : 85-128) ความตายในสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อเดือนตุลาคม 2516 และ 2518 ล้วนมีแนวคิดโต้อีกฝ่าย โดยมีผลเป็น “ได้-เสีย” ส่วนใครได้เสียเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังกรณีความตายในเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน (Cultural Revolution, 1966-1976, Michael Schoenhals,1996) ความตายในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา (Genocide in Cambodia,1975-1979,David P.Chandler,1991) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในระวันดา (Genocide in Rawanda,7 April – 15 July 1994/ Longman, Timothy,2010) ล้วนเป็นข้อเท็จจริง แต่อีกนัยหนึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นความตายของสุนทรี จึงเป็นความจริงว่า ความตายนั้นถูกออกแบบมาให้ตายในสถานการณ์ของการแข่งขัน และการช่วงชิงผลประโยชน์ในนามองค์กรคู่แข่ง แต่อีกนัยหนึ่งถูกทำให้เป็นเครื่องมือของอีกฝ่ายในการสร้างความชอบธรรม และลดความชอบธรรมให้กับอีกฝ่ายหนึ่งไปพร้อมกันด้วย

  1. 4. การสร้างข้อมูลเท็จ สู่การสื่อสารอันเป็นเท็จ ในเรื่องสุนทรีสูตร การสร้างข้อมูล สถานการณ์อันเป็นเท็จ “อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงค้นพระเชตวันแล้วขุดศพนาง สุนทรีปริพาชิกาตามที่ตนสั่งให้หมกไว้ขึ้นจากคู ยกขึ้นเตียงแล้วให้หามเข้าไปยัง กรุงสาวัตถี เดินจากถนนนี้ไปถนนโน้น จากตรอกนี้ไปตรอกโน้น พร้อมกับให้ คนทั้งหลายโพนทะนาว่า….พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว ทำไม เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า” (ขุ.อุ.(ไทย) 25/38/246-250) ตามแนวคิดในเรื่อง ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ที่มีนัยยะของการสมรู้ร่วมกระทำ ช่วยกันกระทำ หรือสร้างสถานการณ์ร่วมกัน “…ระบบความคิดของคนหรือกลุ่มคนที่นำเหตุการณ์หรือเรื่องเล่ามาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อมีวัตถุประสงค์หนึ่งใดที่จะให้คุณ-โทษ ประโยชน์ หรือความเสียหายแก่บุคคล กลุ่มบุคคลโดยมีข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนหรือจะมีเหตุผลความเชื่อบางส่วนมาสนับสนุนทั้งในบริบทของสังคม วัฒนธรรม ศาสนาและการเมือง…” (เฉลิมพล พลมุข,2561) ดังกรณีที่มีเหตุการณ์ “…เรื่องราวในอดีตกาลที่ผ่านมาที่เกี่ยวเนื่องกับทฤษฎีสมคบคิดในต่างประเทศ อาทิ นักบินอวกาศ บัสซ์ อัลดริน และนีล อาร์มสตรอง ในโครงการอะพอลโลที่เหยียบดวงจันทร์ เมื่อ ปี พ.ศ.2511 เป็นเรื่องลวง ฮิตเลอร์ และเอลวิส เพรสลีย์ ยังไม่ตายแต่ถูกมนุษย์ต่างดาวนำตัวไปนอกโลก ปริศนาการลอบสังหารของประธานาธิบดีคนที่ 35 จอห์น เอฟ เคเนดี ที่มีอายุน้อยที่สุดของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 เจ้าของวาทะ “จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านองว่าท่านทำอะไรให้ประเทศชาติ” หรือโลกอาจจะแตกในเร็ววันนี้เนื่องด้วยจะมีก้อนอุกกาบาตขนาดใหญ่เข้ามาในวงโคจรของโลกของเรา…” และมีข้อมูลอันเป็นสถิติรวมว่า  “…มีนักวิจัยด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Miami ที่นำโดย Joseph E. Uscinski และ Joseph M.Parent ที่ได้เขียนหนังสือเรื่อง American Conspiracy Theories ในปี 2014 ที่ได้สำรวจคนอเมริกาพบว่า 3 ใน 4 เคยเชื่อว่า “โอบามา” ไม่ได้เป็นคนอเมริกัน และเหตุการณ์ 9/11 คนที่จบระดับปริญญาตรีเชื่อในเรื่องดังกล่าว 23 %….” (เฉลิมพล พลมุข,2561) ทั้งหมดที่ยกมาเป็นการสะท้อนข้อมูลของความจริงที่ถูกจัดสร้างขึ้น ส่วนเป็นเท็จเป็นจริง ข้อมูลของความจริงจะเป็นผู้ยืนยันความจริงด้วยความจริงนั้น

ดังนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุป ผลประโยชน์ที่ขัดกัน ทำให้เกิดการแข่งขัน ช่วงชิงผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต การใช้ชีวิตคนอื่นมาทำสร้างเงื่อนไขเป็น “ความตาย” ผลจึงกลายเป็นความรุนแรง ความตายและความรุนแรงต่อเนื่อง โดยมีผลประโยชน์ในด้านต่างๆ  เป็นฉากหลังกำกับอยู่ก็ตาม

 

  1. การบริหารสู่ความรุนแรง กับจัดการความรุนแรงด้านข้อมูลข่าวสาร

เมื่อจำเพาะไปในเรื่องความรุนแรง การสื่อสาร โดยมีฉากหลังเป็นผลประโยชน์ทั้งนามรัฐชาติ ชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในสุนทรีสูตร (1) มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุของความโลภ อยากได้ ผลประโยชน์ จึงนำไปสู่ความรุนแรง ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ  (2) การบริหารข้อมูลข่าวสาร หรือการสื่อสารอันเป็นเท็จ ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบประยุกต์ได้ ในสถานการณ์ของการท่วมทับของยุคสมัยของข่าวสาร Fake News โดยเฉพาะในปัจจุบัน  ซึ่งยกมาอธิบายได้ คือ

5.1 การบริหารเพื่อให้ได้ผลประโยชน์สู่การใช้ความรุนแรง  ในสุนทรีสูตร ผลประโยชน์เป็นปัจจัย ต่ออำนาจ และการใช้ความรุนแรง “แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ  นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์  ปริพาชกเป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ  ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้จีวร  บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” (ขุ.อุ.(ไทย) 25/38/246-250)  จนผสมรวมเป็นความรุนแรงไป “จ้างนักเลงให้ฆ่านาง แล้วหมกไว้ในคูรอบ พระเชตวัน” (ขุ.อุ.(ไทย) 25/38/246-250)   แม้ในความเป็นจริง ความรุนแรงเหล่านั้นจะหวังผลได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ดังกรณีพระเจ้าอชาติศัตรูที่เชื่อคำยุยงของที่ปรึกษานำไปสู่การยึดอำนาจจากบิดา แล้วใช้ความกลัวเป็นเครื่องป้องกันจับบิดาขังคุก และสวรรคตในที่สุด พระเจ้าวิฑูฑภะที่ใช้ผลแห่งความเกลียดชังแย่งชิงอำนาจจากพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เป็นพระราชบิดา จนกระทั่งกระทำความรุนแรงปล่อยให้บิดาเสียชีวิตอยู่นอกเมือง  (พระระพิน พุทฺธิสาโร,2554) พระเจ้าอโศกที่ต้องทำความรุนแรงต่อ “พี่น้อง” เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ “…เจ้าชายอโศกทรงมีพระชนมายุ 30 พรรษา ได้เสด็จกลับพระนครปาฎลีบุตร ทำสงครามแย่งชิงราชสมบัติได้สำเร็จ เสด็จเสวยราชสมบัติ และราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ.218….” (ชูชิต ชายทวีป,2558 : 1-13)   กรณี “จิ๋นซีฮ่องเต้” (Qín Shǐ Huángdì; 260–210 ก่อนคริสตกาล) จักรพรรดิผู้เกรียงไกรในประวัติศาสตร์จีน ก็ใช้ความรุนแรงนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ “…สังหาร หลี่ปู้เหว่ยผู้เปรียบเสมือนบิดาบุญธรรม-ประหารโหดขันที ผู้เป็นชู้รักของพระมารดาจิ๋นซีฮ่องเต้- จิ๋นซีเมื่อจำใจลงโทษพระมารดาตนเอง- โหด สั่งเผาตำราและฆ่าบัณฑิต- บัญชาให้สังหารยกหมู่บ้าน- จิ๋นซีฮ่องเต้บัญชา ให้สังหารขันทีนับร้อยในวันเดียวฝังนักคิดและปัญญาชนสำนักวิชาขงจื๊อทั้งเป็นจำนวน 460 คนเมื่อปี 210 ก่อนคริสตกาล…” (รวิโรจน์,2015) ผลประโยชน์คืออำนาจ และใช้อำนาจนั้นในการทำลาย หรือกำราบคู่แข่ง ในทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก การช่วงชิงกันของรัฐมหาอำนาจในช่วงสงครามเย็น ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันทางทหาร เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ จนกลายเป็น สงครามตัวแทน (Proxy War) ในหลายพื้นที่ดังปรากฏใน อิรัก ชีเรีย ปัจจุบัน โดยมีผลประโยชน์ในเชิงรัฐเครือข่ายจำนวนมาก  ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดคือน้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น  ซึ่งในแนวคิดทางพระพุทธศาสนาได้เสนอวิธีการแก้ไขคือ การจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรม (สาธารณโภคี) สอดคล้องกับสภาพความจริงในสิทธิและผลประโยชน์นั้น ให้เป็นผลได้แก่สมาชิกอย่างเท่าเทียม “เนภาสี ลภเต สุขํ-กินคนเดียวย่อมไม่เป็นสุข” ภายใต้ระบบองค์รวม (สังฆะ) เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (สามัคคีธรรม)  เมื่อขัดกันด้วยผลประโยชน์ผลได้ ก็ต้องมีการบริหารที่เป็นธรรม เหมาะสม เป็นต้น

5.2 วิธีการจัดการความรุนแรงด้านข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสุนทรีสูตร พระพุทธเจ้าใช้วิธีการยืนยันความจริงด้วยความจริง ใช้ความสงบกลบข่าวเท็จ ดังปรากฏว่า “ภิกษุทั้งหลายเสียง(โจษ)นั้นจักมีไม่นาน จักมี เพียง 7 วันเท่านั้น ครั้นพ้น  7 วันก็จักหายไป” (ขุ.อุ.(ไทย) 25/38/246-250) เมื่อใดก็ตามที่ชาวพุทธจะดำเนินการใด ๆ หรือการจะสื่อสารใด ชาวพุทธจะต้องรับข้อมูลและสื่อสารข้อมูลอย่างระมัดระวัง     เช่น การใช้ความจริง  ยืนยันต่อความจริงนั้น (สัจจะ) เป็นความจริงแท้ หรือใช้ความจริงต่อสู้ความไม่จริง เป็นพุทธวิธีเกิดขึ้นครั้งพุทธกาล  พร้อมต่อสู้ด้วยวิธีการ คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง                                     หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า “ฉันไม่ได้ทำ” ต่างก็ตกนรก” (ขุ.อุ.(ไทย) 25/38/246-250) ในทางพระพุทธศาสนาใช้กลวิธีในการยุติความรุนแรงจากการสื่อสาร ด้วยความจริงแท้ (สัจจะ) ดังวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ธรรมชาติของตถาคต” ย่อมไม่ทำบาปแม้ในที่ลับ ธรรมชาติเหล่านี้ย่อมเป็นหลักฐานที่ประจักษ์ทั้งในเชิงบุคคล เหมือนสัตว์กินพืชย่อมไม่กินเนื้อ พระพุทธศาสนาใช้ธรรมชาตินี้เป็นเครื่องป้องกันและรักษาความจริง เชิงประจักษ์ให้ปรากฏต่อสาธารณะ จากเหตุการณ์ของสุนทรี สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ ได้คือ ให้ใช้ความจริง ต่อสู้กับความไม่จริง ด้วยความมุ่งมั่นและเข้มแข็ง ที่จะต้องอดทนรอ และยืนยันความจริงอย่างถึงที่สุด ซึ่งสามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นต้น  

 

  1. สรุป

ความตายเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดแล้วต้องตาย แต่ความตายของสุนทรี  เป็นส่วนหนึ่งในการสอนให้มองธรรมชาติของมนุษย์ ที่เกิด แก่ เจ็บตาย เป็นธรรมชาติเช่นนั้น แต่ความตายของสุนทรีไม่ใช่ความตายในแบบปกติ เป็นความตายที่ถูกวางแผน จัดวาง และหวังผลไว้แล้ว โดยมีฉากหลังในเรื่องผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจ และผลได้ ซึ่งได้นำมาเป็นผลสะท้อนคิดเชิงประจักษ์ ในแบบความตายเป็นเครื่องมือ การสื่อสาร  ภายใต้เหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลง ดังที่ยกมาเป็นกรณีศึกษาในสุนทรีสูตรนี้

 

เอกสารอ้างอิง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (2559). ชาวเคิร์ดแห่งประเทศเคอร์ดิสถานผู้อาภัพ. มติชน ออนไลน์, 28 พฤศจิกายน

  1. ออนไลน์ https://www.matichon.co.th/columnists/news_301053 สืบค้นเมื่อ

19 สิงหาคม 2562.

จันทรา เฮงสมบูรณ์. (2556). การศึกษาเปรียบเทียบทัศนะและหลักปฏิบัติเรื่องพุทธสันติวิธีกับอารยะขัดขืน

          ของชุมชนสันติอโศก. วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

          20 (2)  กรกฎาคม – ธันวาคม 2556 : 143-150.

เฉลิมพล พลมุข. (2561). ทฤษฎีสมคบคิด. มติชนออนไลน์  : วันที่ 19 เมษายน 2561
https://www.matichon.co.th/article/news_920097

ชนม์ธิดา อุ้ยกูล. (2561). เส้นแบ่งอัตลักษณ์ในอินโดนีเซีย: ความเกลียดชัง “คนอื่น” ในแคมเปญต่อต้านอาฮก,

วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 5 (1) มกราคม-มิถุนายน 2561 : 64-115.

ชลลดา สัจจานิตย์. (2552). “มาตรการ NTBs; การกีดกันสำคัญต่อผู้ส่งออกไทย – Non-Tariff Barrers

(NTBs) : Key Trade Barriers for Thai Exports”. ศรีปทุมปริทัศน์ ฉบับมนุษศาสตร์และ

          สังคมศาสตร์. 9 (2) กรกฎาคม-ธันวาคม 2552 : 125-134

ชูชิต ชายทวีป. (2558). มูลเหตุแห่งการเปลี่ยนพระราชหฤทัยของพระเจ้าอโศกมหาราช สู่การปกครองที่ทรง

          ธรรรม, วารวารวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี. 4 (2) กรกฎาคม-ธันวาคม 2558 :1-13.

แชนด์เลอร์, เดวิด พี. (2543). ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ

          มนุษยศาสตร์.

ตรี บุญเจือ. (2560). สื่อกับการจัดการความขัดแย้งต่อกรณี “วัดพระธรรมกาย” การศึกษาเชิงวิเคราะห์ประเมิน

          และพัฒนาเพื่อสังคมไทยยุค 4.0. วารสารวิชาการ กสทช. 2 (2560) : หน้า 498-524.

นรพัชร เสาธงทอง.(2015). ประชาธิปไตยแบบไทย. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.

6(2), 89-95.

เปิดความจริง ความเหลื่อมล้ำของคนไทย. ไทยรัฐฉบับพิมพ์ เมื่อ 24 ธันวาคม 2561. ออนไลน์ :

https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1452476.
สืบค้น
18 สิงหาคม 2562

เผ่า นวกุล. (2560).มิชชันนารีกับความขัดแย้งในพม่ายุคอาณานิคม Missionary and Conflict in Colonial

          Burma, วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษย์ศาสตร์. 36 (2) : กรกฎาคม-ธันวาคม 2560 : 47-62.

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส. (2557). แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า. วารสาร

          พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 21 (3) กันยายน-ธันวาคม 2557 : 29-54.

พระระพิน พุทฺธิสาโร, (2554). ความรุนแรงครั้งพุทธกาล : กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ศากยวงศ์. สารนิพนธ์พุทธ
ศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พระพุทธศาสนา)
. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

รวิโรจน์. (2015).จิ๋นซีฮ่องเต้ผู้ไร้เมตตา สั่งฆ่าโหดแบบทรมานสุดๆ, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป.

วรรณภางค์ มานะโชติพงษ์. (2557). มองเหลือง-แดง ผ่านขั้วความคิดทางการเมือง. วารสารเศรษฐศาสตร์

          ธรรมศาสตร์. 32 (3) ธันวาคม 2557 : 31-68.

วิไลวรรณ จงวิไลเกษม.  (2560). “สื่อ (ไม่) ฆ่า: ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล”. วารสารศาสตร์ คณะ

          วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 10 (3) กันยายน-ธันวาคม : 153-163.

ศรีสุพร ช่วงสกุล. (2019). แนวคิดของธรรมยุติกนิกาย : เหตุผลนิยมและมนุษยนิยม. วารสารพุทธศาสน์ศึกษา

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 1 (2) : 54-81.

สมหวัง แก้วสุฟอง. (2559).ระบบวรรณะ: ปัญหาและทางออก ในมุมมองของ มหาตมะ คานธี และ ดร. บี.

อาร์ อัมเบดการ์. วารสารปณิธาน. 12 (2) กรกฎาคม – ธันวาคม 2559 : 121-139.

สมหวัง แก้วสุฟอง. (2561). การดำรงอยู่ของระบบวรรณะในสังคมอินเดีย. วารสารปณิธาน. 14 (1)

มกราคม – มิถุนายน 2561 : 115-134.

สุรพศ ทวีศักดิ์. (2545). เหตุเกิด พ.ศ. 1 : วิเคราะห์กรณีปฐมสังคายนาและภิกษุณีสงฆ์ โดย เมตฺตานนฺโท

          ภิกฺขุ, วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 9 (2) : 82-92,

อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน. (2017). แนวคิดทางสังคมเรื่องอาชีพจากมุมมองเรื่องวรรณะในศาสนาฮินดู

วารสารการบริหารการปกครอง. 6 (1), : 31-60.

เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์. (2558).การเมืองเสื้อสีกับการศึกษาขบวนการโต้กลับตามจารีตการศึกษาขบวนการ

ทางสังคมและการเมือง. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 27 (1) : 85-128.

อำนวย สุขี. (2560). การพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนบนวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองประเทศไทย

ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2557. วารสารบัณฑิตศาส์น มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย. 15 (2)

กรกฎาคม-ธันวาคม 2560: 9-32.

Michael Schoenhals, ed., (1996).   China’s Cultural Revolution, 1966–1969: Not a Dinner

          Party. Armonk, N.Y.: M.E. Sharpe.

Chandler, David P. (1991). The Tragedy of Cambodian History. New Haven CT: Yale

University Press.

G.S. Harris. (1977). Ethnic Conflict and the Kurds. Annals of the American Academy of

Political and Social. Science, pp.118–120,

Longman, Timothy (2010). Christianity and Genocide in Rwanda. New York: Cambridge

University Press.

Murray, Williamson; Woods, Kevin (2014). The Iran-Iraq War: A Military and Strategic History.

New York: Cambridge University Press

Yegar, Moshe (2002). Between integration and secession: The Muslim communities of the
Southern Philippines, Southern Thailand, and Western Burma/Myanmar”
. Lanham.
Lexington Books.

Mamdani, Mahmood (2002). When Victims Become Killers: Colonialism, Nativism, and the

          Genocide in Rwanda. Princeton, NJ: Princeton University Press.

[1] ศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์

[2] คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์

Comments